การวัดและการทดสอบโปรตีนในถุงมือแพทย์ เพื่อป้องกันการแพ้โปรตีน
โปรตีนในถุงมือแพทย์
ถุงมือยางธรรมชาติ หรือถุงมือแพทย์ชนิดใช้แล้วทิ้ง ป็นผลิตภัณฑ์ที่พบบ่อยว่ามีปริมาณของโปรตีนตกค้างอยู่และพบว่าในบางบุคคลมีอาการแพ้โปรตีน โดยเมื่อสวมถุงมือแพทย์แล้วจะมีอาการ ตั้งแต่การแสบคัน เกิดผื่นแดง หรือเป็นลมพิษ ไปจนถึงอาการแพ้ขั้นรุนแรง แต่ทราบหรือไม่ว่า ในถุงมือยางแพทย์ ทั้งชนิดมีแป้งและชนิดไม่มีแป้งนั้น ได้มีการป้องกันและ ทดสอบไม่ให้มีปริมาณของโปรตีนมีมากจนเกิดอาการแพ้ เพื่อให้ผู้ใช้ถุงมือยางธรรมชาติมั่นใจในการใช้ถุงมือชนิดนั้นๆนั่นเอง
ก่อนอื่นเรามาเริ่มกันที่อาการการแพ้โปรตีนนั่นจะเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทางด้วยกันและอาการส่วนมากที่พบก็จะเป็นอาการของการเกิดผื่นแดง เป็นลมพิษ อาการหอบหืด ไปจนถึงอนาฟาลาซิสเลยทีเดียว และจากการศึกษาของสมาคมโรคภูมิแพ้ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่า อาการแพ้โปรตีน ในถุงมือยางธรรมชาตินั่นเกิดได้จากการที่สารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธีได้แก่
1) ทางผิวหนัง แน่นอนว่าผิวหนังจะต้องสัมผัสกับถุงมือยางธรรมชาติหรือถุงมือแพทย์ชนิดใช้แล้วทิ้ง เป็นขั้นแรก และเชื่อไหมครับว่านี่เป็นปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายมากที่สุด จะเกิดขึ้นเมื่อถุงมือสัมผัสกับพื้นที่เปียกชื้นของร่างกายทำให้อาจมีการซึ่มของโปรตีนเข้าสู่ทางผิวหนังทำให้ร่างกายเกิดอาการแพ้เป็นผื่นแดงเป็นต้น
2) ทางระบบหายใจ เกิดมากโดยเฉพาะถุงมือแพทย์ชนิดมีแป้ง เนื่องจากว่าการที่ใช้แป้งเพื่อป้องกันการติดกันของถุงมือจะดูดซัมโปรตีน จากถุงมือที่ผลิตโดยยางธรรมชาติ และเมื่อมีการใช้ถุงมืออนุภาคเหล่านั้นอาจหลุดลอยปะปนอยู่ในอากาศ ทำให้บริเวณใกล้เคียงหากมีการหายใจจะทำให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นได้รับโปรตีนไปอย่างไม่ได้ตั้งใจ
3) การสัมผัสกับเยื่อบุภายในเยื่อบิมิวคัส กรณีนี้จะเกิดเฉพาะการได้รับการผ่าตัดจะเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงมากเนื่องจากการสัมผัสกับถุงมือยางระหว่างการทำการผ่าตัด ดังนั้นหากตัวท่านมีอาการแพ้โปรตีนจากยางธรรมชาติควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งที่มีการรับการรักษา
โดยในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทราบได้ว่าโปรตีนชนิดใดที่เป็นตัวการทำให้เกิดการแพ้อย่างแท้จริง แต่จากข้อมูลในขั้นต้นทำให้ผู้ใช้งานถุงมือยางรวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดอาการระแวง ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงและหันไปใช้ถุงมือยางสังเคราะห์ เช่นถุงมือไนไตรแทน ซึ่งในตัวถุงมือยางสังเคราะห์ก็จะไม่มีโปรตีนชนิดใดๆอยู่ดังนั้นนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คนแพ้โปรตีนจากยางธรรมชาติควรจะเลือกใช้
แต่จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่าในสมัยก่อนอาจมีอาการแพ้แบบรุนแรงของโปรตีนจริงเนื่องจากว่าอาจจะยังไม่มีมาตรการควบคุมปริมาณของโปรตีนในถุงมือยางธรรมชาติชนิดนั้นๆ แต่ในปัจจุบันได้มีการควบคุมและตรวจสอบถุงมือยางธรรมชาติก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการขายกับผู้บริโภค หากถุงมือแพทย์ที่ท่านใช้งานได้ผ่านการตรวจสอบปริมาณโปรตีนที่จะอยู่ในถุงมือยางธรรมชาตินั้นๆ จะมีปริมาณโปรตีนที่ต่ำและมีป้องกันการแพ้ยาง หรือแพ้งแป้งได้ดีครับ
ในวันนี้เราจะมาพูดคุยกันในส่วนของวิธีการทดสอบถุงมือแพย์จากยางธรรมชาติ โดยทำการทดสอบหาโปรตีนกันนั่นเอง
วิธีการตรวจสอบโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้อยู่ 2 วิธี คือ
1. การวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนที่สกัดได้ทั้งหมด
2. การประเมินความสามารถในการก่อให้เกิดอาการแพ้โดยตรงหรือปริมาณสารที่ก่อให้เกิดการแพ้
โดยมีรายละเอียดในการวิเคราะห์ต่างๆดังนี้ การวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนที่สกัดได้ทั้งหมด : การวิเคราะห์ด้วยวิธีนี้จะเป็นการวิเคราะห์โปรตีนที่สกัดได้ทั้งหมด โดยไม่สามารถแบ่งแยกว่ามีโปรตีนชนิดใดบ้าง แล้วชนิดไหนทำให้เกิดการแพ้ โดยในปัจจุบันจะมีวิธีการวิเคราะห์อยู่ 3 วิธีโดยเลือกวิธีการทดสอบแค่วิธีการทดสอบชนิดใดชนิดหนึ่งดังนี้
การวิเคราะห์โดยการเทียบสี (Colorimetric analysis)
จะแบ่งออกเป็นอีก 2 วิธีได้แก่
1) Modified Lowry คือการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนจากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติ เช่นถุงมือยางธรรมชาติ โดยจะมีขั้นตอนในการทดสอบดังนี้
- การสกัดโปรตีน (Protein Extraction) จะเป็นการนำถุงมือยางธรรมชิเข้าสู่กระบวนการสกัดโปรตีนด้วยกรดทำให้โปรตีนเกิดการตกตะกอน
- การตกตะกอนโปรตีน (Protein Precipitation) เมื่อมีการตกตะกอนของโปรตีนแล้วจะทำการกรองตะกอนแยกออกจากกรดโดยการละลายด้วยอัลคาไลน์ เพื่อทำการทดสอบหาปริมาณโปรตีนต่อไป
- การหาปริมาณโปรตีน (Protein Quantitation) จะทำการทดสอบด้วย Colorimeter โดยจะทำปฏิกิริยากับพวก Copper เป็นต้นซึ่งหากเป็นโปรตีนแล้วในส่วนนี้จะได้สารสีน้ำเงินออกมา จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการวัดแสงต่อไป
2) Bradford assay คือวิธีวิเคราะห์หาโปรตีนโดยอาศัยหลักการความสุมดุลระหว่าง Coomassie Brillant Blue G-250 และการรวมตัวกันของ Coomassie Brillant Blue G-250 กับโปรตีนแบบเฉพาะเจาะจง โดย Coomassie Brillant Blue G-250 เมื่ออยู่ภายใต้สภาวะกรดเข้มข้นจะให้สีน้ำตาลแดงอ่อนๆออกมา และเมื่อมีการทำปฏิกิริยากับโปรตีนจะให้สีน้ำเงิน ซึ่งในการทดสอบหากยิ่งมีปริมาณของกรดอะมิโนมากเท่าใด การเกิดสีก็จะทำได้อย่างชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น และจากนั้นจะเป็นการนำไปวัดการดูดกลืนคลื่นแสงต่อไป
ซึ่งจากการทดสอบเปรียบเทียบกันทั้ง 2 วิธี สามารถทำได้อย่างง่ายพอๆกันแต่เนื่องจากวิธีที่ 2) Bradford assay จะมีข้อเสียตรงที่หากมีการรบกวนของสารอื่นที่ไม่ใช่โปรตีนการทดสอบอาจจะทำให้ดูกราฟของการดูดกลืนคลื่นแสงไม่ค่อยชัดดังนั้นทำให้วิธี Modified Lowry ได้รับความนิยมในการทดสอบมากกว่านั่นเอง
การวิเคราะห์ด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟี (Chromatographic analysis)
คือการวิเคราะห์หาปริมาณของกรดอะมิโนแต่ละชนิดด้วยเครื่อง High Performance Luquid Charomatography (HPLC) โดยที่ปริมาณของโปรตีนจะเท่ากับกรดอะมิโนทั้งหมดแบ่งวิธีการออกเป็น 2 วิธี คือ
การวิเคราะห์กรดอะมิโนโดยใช้ HPLC จะเป็นการวิเคราะห์โปรตีนและเปปไทด์โดยอาศัยการหาปริมาณของกรดอะมิโน การหาความเข้มข้นของสารละลายเปปไทด์ การจับตัวของโปรตีนกับแอนติบอดี้และการวิเคราะห์ปลายสายโปรตีนโดยการย่อยของเอนไซม์ มี 4 ขั้นตอนดังนี้
1. ไฮโดรไลซิส วิธีการไฮโดรไลซิสหรือที่เรียกว่าการทำให้โปรตีนแตกตัว ไฮโดรไลซิสจะทำลายพันธะเปปไทด์และให้กรดอะมิโนอิสระ
2. การแยก โดยใช้คอลัมน์โครมาโตกราฟี วิธีนี้จะต้องทำการเตรียมคอลัมน์สำหรับการแยกสารโดยคอลัมน์จะมีลักษณะแตกต่างตามการใช้งาน
3. การสร้างอนุพันธ์ ด้วยสารที่มีสีเพื่อช่วยในการแยก เนื่องจากการแยกในบางครั้งจะปรากฏพีกที่ซ้อนทับกันค่อนข้างซับซ้อน ทำให้ต้องมีการเติมสีเพื่อช่วยให้เครื่องอ่านพีกของสารได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
4. การวิเคราะห์ตำแหน่งของพีกของกรดอะมิโนแต่ละตัว จะเป็นการนำตำแหน่งพีกของกรดอะมิโนที่ได้มาเทียบกับตำแหน่งพีกกรดอะมิโนมาตรฐานจะสามารถบอกได้ว่าเป็นกรดอะมิโนชนิดใด และสามารถนำไปคำนวณปริมาณกรดอะมิโนได้จากพื้นที่ใต้กราฟ เมื่อนำปริมาณกรดอะมิโนทั้งหมดมารวมกันจะได้ปริมาณโปรตีน
การทดสอบภูมิคุ้มกัน (Immunoassay) เป็นวิธีการหาโปรตีนแอนติเจนโดยอาศัยหลักการการเกิดอันตรกิริยาเฉพาะเจาะจงระหว่างโปรตีนกับโปรตีน โดยวิธีการนี้จะมีข้อจำกัดอยู่ที่ว่าหากมีปริมาณของโปรตีนที่ต่ำมากๆจะเกิดความผิดพลาดขึ้น และต้องใช้แอนติบอดี้ที่มีความเฉพาะเจาะจง และยังมีปัญหาเนื่องจากชนิดของโปรตีนจากน้ำยางธรรมชาติซึ่งได้มาจากน้ำยางหลายชนิด ทำให้มีความแตกต่างกันสูงมาก ทำให้วิธีนี้จะไม่เหมาะสมสำหรับในการหาปริมาณของโปรตีนซักเท่าใด
การประเมินความสามารถในการก่อให้เกิดการแพ้โปรตีนในถุงมือยางโดยตรงหรือปริมาณสารที่ก่อให้เกิดการแพ้
จะสามารถทำได้ทั้งหมด 2 วิธี คือการทดสอบทางคลินิกหรือทางผิวหนัง และการทดสอบทางเซรุ่มวิทยาหรือทางเลือด
- การทดสอบทางคลินิก การทดสอบทางผิวหนังมี 4 ชนิดด้วยกันคือ การขูด การจิ้ม การฉีดยาใต้ผิวหนังและการแปะสารที่ผิวหนัง โดยสามชนิดแรกจะใช้สารสกัดที่สงสัยว่าจะแพ้มาทำการทดสอบที่ผิวหนังเพื่อดูว่าร่างกายเกิดปฏิกิริยาการแพ้ต่อโปรตีนหรือไม่ โดยจากการทดสอบในแต่ละชนิดมีวิธีทดสอบที่แตกต่างกันตรงวิธีการนำสารสกัดเข้าสู่ผิวหนัง ปกติแล้วจะทำการทดสอบที่แขนหรือแผ่นหลัง จากนั้นดูผลของปฏิกิริยาประมาณ 10-20 นาที ถ้ามีตุ่ม ผื่นแดงๆ แสดงว่าเกิดปฏิกิริยาแพ้ต่อโปรตีน และอาจจะมีการทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้แน่ใจว่ามีอาการแพ้อย่างแท้จริงนั่นเอง
- การทดสอบทางเซรุ่มวิทยาหรือทางเลือด การทดสอบชนิดนี้ทำได้หลากหลายวิธีมากๆเช่น การวัดความเข้มข้นของอิมมูโนกลอบินอี (lge) ทั้งหมดในเลือด เพื่อหาว่าผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่นั่นเอง และอาจจะทำให้ทราบโรคอีกหลายหลากชนิดอีกด้วย โดยวิธีการประเมินความสามารถในการก่อให้เกิดการแพ้นี้จะเฉพาะเจาะจงสำหรับสารที่ก่อให้เกิดการแพ้จากน้ำยางธรรมชาติมากกว่าวิธีวิเคราะห์โปรตีนที่สกัดได้และจากการทดสอบจะทำให้ทราบว่าการทดสอบโดยตรงกับผิวหนังจะให้ผลที่แน่นอนที่สุดอีกด้วย
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะพบว่ากระบวนการวัดปริมาณโปรตีนในถุงมือแพทย์จากยางธรรมชาตินั่นไม่ง่ายเลย แต่กระบวนการเหล่านี้จะช่วยลดความกังวลเรื่องการแพ้ยางธรรมชาติ (โปรตีนในยางธรรมชาติ)ได้มากทีเดียว หากท่านผู้อ่านสนใจถุงมือแพทย์ราคาถูก ถุงมือไนไตรราคาถูก สามารถขอตัวอย่างได้โดยตรงกับทางบริษัทฯครับ
@@@ สงวนลิขสิทธิ์บทความ ห้ามทำซ้ำ ด้วยวิธีการใดๆ ลงในสื่อใดๆทั้งสิ้น @@@
@@@ หากพบ จะดำเนินคดีตามกฏหมาย @@@